วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ตั้งโจทย์ให้มันถูก



ตั้งโจทย์ให้มันถูก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ตั้งโจทย์ให้มันถูก ถ้าตั้งโจทย์ไม่ถูก คำตอบมันก็ไม่ถูก ดังนั้นต้องตั้งโจทย์ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วก็หาคำตอบ โจทย์ที่ได้ยินก็คือ อนัตตา ขยายออกไปคือ รูปัง อนัตตา, เวทนา อนัตตา, สัญญา อนัตตา, สังขาร อนัตตา, วิญญาณ อนัตตา นี่คือโจทย์  หาคำตอบจากเรื่องนี้ จากข้อนี้ข้อเดียว  ตอบไม่ได้ ก็ยังไม่จบ ตอบไม่ถูก ก็ยังไม่จบ
          อนัตตา คือ ไม่ใช่ตัว แต่ความรู้สึกมันยังเป็นตัว เห็นแก่ตัว หึงหวง นี่คือหน้าที่ของธรรมชาติในลักษณะที่ยังไม่รู้จริง ยังตอบไม่ถูก ยังไม่ได้ตอบด้วยซ้ำ ยังไม่ได้หาคำตอบซ้ำ มันไม่รู้จักเลย มันปิดมิดเลย ที่เป็นอยู่นี้มันเป็นอัตตา เป็นตัว เป็นฉัน เป็นข้าพเจ้า เป็นฝ่ายโลก ฝ่ายโลกีย์ มืดมิด ปิดบัง ไม่รู้ตัวเลย เกิดมาไม่รู้ตัวเลยว่าจะทำอะไร หรือควรจะให้มันเป็นอะไรต่อไป ไม่รู้เลย
          ถ้าดีขึ้นมาหน่อย ก็พยายามค้นหาคำตอบ แต่ยังตอบไม่ได้ ความยึดติดมันเป็นชนิดมหายึดติด มหาเคยตัว  ความเห็นแก่ตัวมันปิดบัง ฉาบทา ปิดกั้น จนทำให้มองไม่เห็น  ถ้าบอกว่าโจทย์คือ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน มันจะย้อนถามต่อไปอีกว่า จะทำไปทำไม ไม่มีตัว มันก็ไม่มีความสุข จะเอาอะไรไปรับความสุข หรือคิดว่าจะเอาตัวเองไปอยู่ในพระนิพพานอีก นี่ความเป็นตัวตนที่มันขวางกั้นอยู่ ปฏิบัติก็จะให้ไปอยู่ในพระนิพพาน ดำรงไว้ซึ่งตัวตนตลอดกาล ให้ตนเองคงอยู่ตลอดกาล มีความสุขตลอดกาลอยู่ในพระนิพพาน ความคิดแบบนี้ และคำตอบแบบนี้มันไม่ถูกต้อง เพราะมันปิดกั้นเสียแล้ว เข้าใจผิดจนเป็นมิจฉาทิฏฐิถึงกระดูกดำ ความยึดถือ ยึดติด ความสำคัญว่าตัวว่าตน มันมีอำนาจ มีพลัง มีอิทธิพลมาก
          อดีตมันผ่านไปแล้ว พอเกิดมามันก็เป็นอัตตาตัวตนแล้ว จะย้อนกลับไปแก้ไขมันก็ทำไม่ได้ เพราะมันเป็นอดีต ทำอะไรกับอดีตไม่ได้ มันเป็นอัตตาตัวตนมาแล้ว สำคัญมั่นหมายมาแล้วตั้งแต่อดีต มีขันธ์ห้า มีรูปนามมาแล้ว นี่คือเกิดมาแล้วตั้งแต่อดีต ผ่านมาแล้ว ผ่านมาจากอดีตจึงมาเป็นปัจจุบันอยู่ตอนนี้ จะให้ย้อนกลับไปแก้ไขในอดีตมันทำไม่ได้แล้ว ดังนั้น การแก้โจทย์ การหาคำตอบ ก็คือ ต้องศึกษาในปัจจุบัน
          ร่างกายมันเป็นมาแบบนี้ตั้งแต่อดีต เป็นรูปเป็นร่างอยู่อย่างนี้ แก้ไขให้มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ย้อนไปแก้ตั้งแต่เกิด หรือตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ได้ มันผ่านไปแล้ว สิ่งที่ทำได้ตามหน้าที่ คือ ปัจจุบัน เท่านั้น และไม่ต้องไปแก้ไขหรือไปเพิ่มเติมอะไร มันมีพอดีอยู่แล้ว เป็นสัจธรรมที่มีอยู่แล้ว สัจธรรมมันก็เป็นอนัตตาอยู่แล้ว เพียงแต่ความรู้สึกของเรามันค้านกัน ขัดกัน ไม่ลงรอยกันกับสัจธรรมที่มันเป็นจริง คือมันรู้สึกเป็นอัตตา เป็นตัวตนอยู่ตลอดเวลา 
          หาวิธี คือการแก้โจทย์ คือการทำความเพียร คือการศึกษา เพื่อให้เข้าใจ เพื่อให้ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ได้ถูกต้อง โจทย์คือ อนัตตา มันเป็นอนัตตายังไง อนัตตาแบบไหน ทำไมมองทีไรมันก็เป็นอัตตา  เขียนไว้ก็ว่าอนัตตา ท่องบ่นก็ว่าอนัตตา แต่มันก็ยังไม่เห็นอนัตตา ไม่สัมผัสอนัตตา ไม่ปรากฏอนัตตาเลย สิ่งที่ปรากฏคืออัตตา ปรากฏอยู่ประจำ อัตตา ตัวกู ตัวฉัน มันปรากฏ มันสัมผัสอยู่อย่างนี้ นี่คือสิ่งที่มันเป็นอยู่ตามกระแสมวลชน ตามกระแสโลก มันไม่รู้จริง ไม่รู้ตามเป็นจริง มันก็เลยเป็นปุถุชน คนหนา คนไม่รู้จริง       มองอีกด้านหนึ่ง คำว่า ปุถุชน มันก็เหมือนเป็นคำที่ว่ารุนแรง ไม่ได้หมายเพียงแค่คำระดับธรรมดา เพราะมันหมายถึงคนหนา คนโง่ คนไม่รู้จริง แตกต่างกับอริยชน คนที่รู้จริง พิจารณาให้ลึกลงไป ปุถุชนมันเป็นคำที่บอกถึงลักษณะตรงๆ ชัดๆ แต่ถ้าไปใช้กับบางคนเขาก็คิดว่าด่าเขา จนถือโกรธถือเคือง นั่นมันก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็น มหาปุถุชน เพราะมันยังไม่รู้ว่าคำนี้เขาใช้กันมาตั้งแต่โบราณ ในหนังสือในตำราก็มี พระพุทธเจ้าก็ใช้คำนี้
          คำที่ตรงกันข้ามกับปุถุชน คือ อริยชน  อริยะ แปลว่า ไปจากข้าศึกคือกิเลส มันเป็นคำพูดที่พูดตามๆ กัน แต่ถ้าไม่เข้าใจก็หลงไปอีก  ไปจากข้าศึก ก็คิดว่ามีข้าศึกอีก  เหมือนกับ มีทุกข์ และ มีพ้นทุกข์ ถ้าไม่เข้าใจมันก็ชวนให้สับสน  ถ้าไม่แตกฉานมันก็จะสะดุด แล้วก็ชอบยึด ชอบเชื่อตามเขา เชื่อเอา เชื่อเอา ไปจากข้าศึกคือกิเลส กับ พ้นทุกข์ มันก็ชวนให้หลง เพราะมันเป็นการชวนให้ทรงไว้ซึ่งอัตตา มีอัตตาที่จะไปจากข้าศึก มีอัตตาที่จะพ้นทุกข์ แทนที่จะทำลายอัตตา ทำลายตัวที่จะไปคอยพ้นทุกข์ คิดดูว่าใครจะเหนือกว่าใคร แทนที่จะไปคอยหลบลี้ หลบแดด หลบฝน ก็ทำลายตัวเองซะ มีแดดก็ส่องไม่โดน ฝนตกมาก็ไม่โดน ไม่ต้องไปเข้าถ้ำ ไปหาที่หลบให้ยุ่งยาก ไม่ต้องไปคอยวิ่งหนีจากข้าศึก หรือไปคอยวิ่งหนีจากทุกข์อยู่นั่น ถ้าวิ่งอยู่นั่นมันก็ยังมีตัวอยู่
          ถ้าไม่เข้าใจ มันก็กลัวอีก ไม่มีอะไร ไม่เอาหรอก ปฏิบัติไปเพื่อไม่มีอะไร แล้วมันจะมีความสุขได้ยังไง มันก็ไม่อยากสนใจแล้ว มันจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก คนที่แหวกแนว คนที่เดินหันหลังให้กับโลกมันหายาก มันมีน้อยอยู่แล้ว คิดดูตอนที่เขาขับไล่พระเวสสันดรออกจากเมือง คนทั้งเมือง ชาวบ้านทั้งเมืองไม่เห็นด้วยกับการกระทำของท่าน เห็นดีเห็นงามที่จะขับไล่ท่านออกไปจากเมือง นี่คือกระแสสังคม กระแสโลกีย์ เอาหมู่มากเป็นใหญ่เป็นประมาณ  มันต้องแหวกแนวอย่างมหาโหด จึงจะไปได้  ตอนเจ้าชายสิทธัตถะจะออกบวช พระองค์ก็แอบหนีไปตอนกลางคืน ชาวบ้านชาวเมือง ญาติพี่น้อง ล้วนป้องกัน ขัดขวาง ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วย หาวิธีเหนี่ยวรั้ง กักขัง สารพัด เพราะไม่เห็นชอบด้วย นี่คือตัวอย่างบุคคลในอดีต ธรรมะจริงๆ มันยาก หนทางที่จะค้นพบสัจธรรมมันโหดขนาดนั้น ตรงกันข้ามกับโลกขนาดนั้น เหนือกว่าขนาดนั้น จนมองไม่เห็น ดาวไกลขนาดนั้นยังมองเห็น ธรรมะจริงๆ มันเป็นของยากยิ่งกว่านั้น
          ความเป็นอัตตา-อนัตตา นี่มันมองไม่เห็น แยกไม่ออก ไม่เข้าใจเลย มืดมิด มองไม่เห็น ไกลยิ่งกว่าดวงดาวอีก ของมันสะสมมานาน มีความรู้แบบนี้มานาน ติดตัวจนแยกไม่ออก เหมือนหลวงปู่ชา ท่านพูดว่า ถ้าจะมาอยู่กับผม เอามหาฯของคุณทิ้งไว้นอกวัด เอาแต่กายกับใจมา เอาความรู้ ความฉลาด ทิ้งไว้นอกวัดท่านพูดเป็นภาษาธรรม ฟังไม่เป็นก็ตีความแบบชาวบ้านอีก
          ตัวอัตตา ตัวตน นี่มันยังไม่สามารถจะทิ้งได้ มันสัมผัสไม่ได้ ปรากฏไม่ได้ มันก็เหมือนกันกับไม่ได้กินเกลือ มันก็ปรากฏความเค็มไม่ได้ มันก็ได้แต่เปรียบเทียบว่ารสเค็มเป็นอย่างไร เพราะมันไม่มีเกลืออยู่ในปาก มันก็เลยไม่ปรากฏ  อนัตตาก็เช่นกัน มันปรากฏไม่ได้จนกว่าจะมีความรู้ที่ถูกต้องตามเป็นจริง เมื่อรู้จริงตามเป็นจริง มันจึงจะปรากฏอนัตตาออกมา เหมือนกับการได้ชิมเกลือ แม้ไม่มากแต่ก็พอปรากฏรสชาติความเค็ม สัมผัสความเค็ม หยั่งรู้ความเค็มได้ 
          เห็นรูปเป็นอนัตตาได้ไหม รู้โดยสัมผัสจริงๆ ไม่ใช่คิดเอา รู้จริงเหมือนได้ชิมเกลือ ไม่ใช่บอกว่ารู้แต่ในปากไม่ได้แตะเกลือเลย นั่นมันโกหก ไม่รู้จริง เกลือไม่มีในปาก แต่บอกว่าเกลือเค็ม คำว่ารสชาติของอนัตตาก็เช่นกัน  เราพูดได้ บ่นได้ สวดได้ ทุกเช้าทุกเย็น แต่ไม่ได้สัมผัส ไม่ได้ปรากฏรสชาติจริง สิ่งที่สัมผัส ที่ปรากฏอยู่ก็คืออัตตา เหมือนกับเกลือ สิ่งที่สัมผัสอยู่คือไม่เค็ม เพราะไม่ได้มีเกลืออยู่ที่ลิ้น นี่คือความแตกต่างของรสชาติจริงๆ ระหว่างเค็มและไม่เค็ม ระหว่างอัตตาและอนัตตา
          สิ่งที่สัมผัสประจำคือ อัตตา ตัวกู ตัวฉัน ตัวข้าพเจ้า ต้องจี้ตรงนี้ สับตรงนี้ ป่นตรงนี้ ให้มันแหลกละเอียด ไม่ใช่จุดอื่น เจาะตรงนี้ ตอกตรงนี้ ทุบตรงนี้ เผาตรงนี้ ระเบิดตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องอื่น
          ดังนั้น มันต้องตั้งโจทย์ให้ถูก ว่าจะทำอะไร ทำเพื่ออะไร มันไม่ใช่ทำเพื่อเอาอะไร เพื่อได้อะไร ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อละ โลภ โกรธ หลง ซึ่งหากจะพูดแบบนี้ก็ได้อยู่ แต่มันเป็นภาษาชาวบ้าน ภาษาโลกีย์ เพราะคนทั่วไปเขาก็ทำการละ โลภ โกรธ หลง กันอยู่แล้ว เหมือนกับเวลาฝนตกลงมา คนก็วิ่งเข้าร่ม ถ้าไม่หลบเข้าร่มก็เปียก เพราะมันยังมีตัวที่ต้องวิ่งหลบฝน ถ้าไม่มีตัวแล้วจะเอาอะไรมาเปียก มันก็ทำนองเดียวกัน ถ้าไม่มีตัวตนแล้วจะไปคอยละ โลภ โกรธ หลง ทำไม จะไปคอยละ โลภ โกรธ หลง ออกจากอะไร เพราะมันคอยละ โลภ โกรธ หลง ออกจากอัตตา ถ้าไม่มีอัตตา มันจะเอาอะไรมาทำการ จะเอาอะไรมาคอยละ ที่เขาพูดกันสอนกันส่วนใหญ่มันพูดกันตามกระแส พูดตามๆ กัน บางทีก็บอกว่าให้เอาใจนั่นแหละคอยละ โลภ โกรธ หลง มันก็ทำการคอยละอยู่นั่นแหละ มันไม่จบหรอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น