วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก


ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

          ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ คำกล่าวนี้ส่วนที่เห็นได้ชัดก็คือ รูปขันธ์ ขันธ์ที่หนึ่ง รูปมันหนัก หนักด้วยน้ำหนักโดยธรรมชาติ ปรากฏเป็นความหนัก แต่มันก็ยังไม่ปรากฏความหนัก นี่มันปิดบังไว้อย่างแน่นหนา หนาทึบ มันเหมือนกับเฉยๆ ไม่ได้หนัก รสชาติมันเป็นของหนัก แต่ไม่ปรากฏรสชาติว่ามันเป็นของหนัก ไม่พอจะรู้ได้ มันเหมือนกับรสชาติอื่นๆ อย่างรสเค็ม เป็นต้น เกลือมันเค็ม แต่ไม่ปรากฏ ไม่สัมผัสความเค็ม เพราะไม่ได้กินเกลือ ไม่ได้แตะเกลือ ไม่ได้สัมผัสเกลือ ไม่ได้สัมผัสที่ลิ้น ที่ซึ่งมันจะรู้รสชาติว่าเค็ม
          ร่างกายคือขันธ์ที่หนึ่งนี้ รูปขันธ์ รูปทั้งหมด ทั้งแท่ง ทั้งก้อน มันเป็นของหนัก รสแห่งของหนักไม่ปรากฏ นี่คือไม่รู้จริง นี่คือสิ่งที่ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ จำเป็นจะต้องทำความรู้ ทำความเข้าใจกับโจทย์ที่ให้ไว้ กับความจริงที่มีอยู่ คือ รูปเป็นของหนัก
          คำพูด คำศัพท์ บางอย่างที่เคยได้ยิน เช่น นั่งกรรมฐาน นั่งสมาธิ เกิดปีติ เบากาย เบาใจ สบาย ยิ่งชวนให้หลงไปใหญ่ ถ้าไม่เข้าใจ อันนั้นมันเป็นส่วนเรื่องของสมาธิ เรื่องของความสงบ ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องให้รู้แจ้งเห็นจริง มันคนละเรื่องกัน พูดเด็ดขาดไปอย่างนี้ก็ได้ จะได้ไม่หลงติดกับรูปแบบของคำว่าสมาธิ จะไปนั่งเอาสบายกาย สบายใจ มันเป็นทางที่ชวนให้หลงมากมาย ชวนให้เข้าใจผิด มันก็ได้อยู่ แต่มันจะคนละทาง คนละอย่าง ไม่ใช่จุดประสงค์ที่จะให้รู้จริงตามเป็นจริงในขันธ์ห้าได้ มันจะไม่เห็นของหนัก ไม่เห็นโทษ มันกลับเห็นว่าเป็นคุณเสียอีก ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นอริยสัจสี่คือทุกข์ ไม่เห็นว่าร่างกายเป็นทุกข์ แต่ไปเห็นว่าร่างกายเป็นสุข เห็นว่ามันเบาสบาย ไปกันใหญ่แล้ว มันก็เลยยิ่งขัดแย้งกับคำว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นเป็นของสบายไปเลย ไม่ได้เห็นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นของหนักอะไร ดังนั้น คำศัพท์ คำพูด ที่ได้ยินได้ฟังมา มันต้องสับให้แหลก ไม่ใช่เชื่อเอา เชื่อเอา
          มันเป็นภาระเกี่ยวกับขันธ์ที่หนึ่ง มันแบกมา หอบมา หิ้วมา หาบมา หามมา หลายภพหลายชาติ โดยหน้าที่ หรือแม้ชาติเดียวทั้งชาตินี้ก็เป็นหน้าที่ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จริงมันก็หนัก ก็ต้องแบก แต่มันก็ไม่รู้ตัวว่าแบกของหนัก เพราะฉะนั้นการทำความเพียรก็เพื่อจะรู้จริงตามเป็นจริง เวลาเราจะลุกขึ้น สังเกตดู มันเป็นอาการหยาบ เวลานั่งแล้วจะลุกขึ้นเดินไป สังเกตดูบ่อยๆ เนืองๆ มันหนัก มันใช้พลังเตรียมพร้อมที่จะลุก ใช้มือช่วยค้ำยัน ดันขึ้น ส่วนขามีอาการดันขึ้นมา พยุงขึ้นมา ผลักขึ้นมา ส่วนแขนก็เช่นเดียวกัน ช่วยกันผลัก ช่วยกันดันขึ้น ดันร่างทั้งร่างขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะมันหนัก
          เราสังเกตการณ์ ก็คือ ทำความเพียร คือสัมปชัญญะมันจะเกิดขึ้น มันจะมารู้ตัว ตัวคือตัวรูป ตัวร่าง ตัวขันธ์ที่หนึ่ง มันจะสัมผัส มันจะอยู่ใกล้ มันจะไม่หนีออกไปภายนอก อยู่ด้วยกัน อยู่ใกล้กัน อยู่ชิดกัน เรียกว่า สัมปชัญญะ คือรู้ตัว บ่อยๆ เป็นวิธีทำอีกวิธีหนึ่ง อีกแบบหนึ่ง สังเกตการณ์เวลาจะลุก บ่อยๆ เนืองๆ ที่ท่านเขียนไว้ในตำราก็ว่า อิริยาบถบรรพ อาการเคลื่อนไหวของกาย ส่วนขา ส่วนแขน ส่วนหัว ส่วนริมฝีปาก กระพริบตา อ้าปาก เหล่านี้ท่านว่าไว้เลย จะเหลียวซ้าย แลขวา ทุกอย่าง การเคลื่อนไหวของกายเป็นอิริยาบถบรรพ เป็นกรรมฐานอีกอย่างหนึ่ง แบบหนึ่ง เป็นวิธีหนึ่ง อย่างนี้ถูกใช่ไหม มันยังตอบไม่ได้ว่าถูกหรือผิด เจ้าตัวนั่นแหละจะต้องตอบเอง ไม่ใช่ผู้บอกหรืออาจารย์เป็นผู้ตอบ คุณนั่นแหละเป็นผู้ตอบว่าถูกหรือผิด ไม่ใช่ฉันตอบ คุณถามได้ แต่ไม่ใช่ฉันเป็นผู้ตอบ คุณต้องเป็นผู้ตอบเอง มันจะออกมาแบบนี้ ถูกหรือผิด มันอยู่ที่คุณ เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัว ถามได้ แต่ผู้ถามนั่นแหละเป็นผู้ตอบ นี่คือตามรูปแบบของชาวพุทธ
          ถ้าเป็นรูปแบบของชาวบ้าน หรือในระดับโลกียะ อาจารย์อาจจะเป็นผู้ตอบ แต่ระดับโลกุตตระผู้ถามต้องตอบเองว่าถูกหรือผิด ต้องแยกทำความเข้าใจ ถ้าเป็นระดับโลกียชนทั่วไป ระดับชาวโลก คนที่ถามไม่ใช่ผู้ตอบ คนที่ถูกถามจะเป็นผู้ตอบ นั่นคือระดับชาวบ้าน แต่กระแสธรรมะในระดับชาวพุทธ หรือโลกุตตระ ต้องตอบเอง จะเรียกว่าเป็นภาษาธรรมก็ได้ มันต้องตอบเอง
          การทำความเพียรนี้มันต้องอยู่นานๆ ดูนานๆ กลางวันก็ตื่นนานๆ นี่คือวิธีที่ได้ผล ตื่นอยู่นานๆ ตื่นอยู่ก็คือพุทโธนั่นเอง คือรู้ รู้อย่างต่อเนื่องนานๆ ทั้งวัน รู้อยู่ มันจะสะสมความรู้ สะสมความตื่น สะสมความเบิกบาน ไม่ใช่สะสมความมืด ความเศร้า ความหลับ ไม่ได้สะสมในฝ่ายที่มันตรงกันข้าม ถ้าตื่นอยู่นานๆ ก็คือสะสมความสว่าง เจิดจ้า แจ่มใส ความรู้จริง ความรู้อย่างโดดเด่น มันจะมา มันเป็นพวกของมัน
          เพราะฉะนั้น การฝึก การทำความเพียร ครูบาอาจารย์กรรมฐานในยุคก่อน หรือยุคไหนก็ตาม จึงสรรเสริญการตื่น ตื่นให้มากที่สุด ตื่นอยู่ ฝึกตน ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ลำบาก ไม่พอใจ ทุกข์ทรมาน แต่ก็ตื่นอยู่ ดีกว่าจะไปหลับให้มาก ถ้าตื่นอยู่ ความสบายมันจะตามมา ยิ่งไม่สบายแล้วไปนอนมันก็ยิ่งซ้ำเติม มันคิดมาก..นอนซะ นอนมากมันก็ไม่ใช่ทาง มันยิ่งเศร้าหมอง มันไม่ได้ตื่นอยู่ มันสะสมความดำ ความมืด สะสมความไม่สบาย ก็เลยยิ่งไม่เห็นอะไร เพราะมันไม่มีพุทโธ มันไม่ตื่น จะผ่อนคลายก็ด้วยการตื่น
          มันตึง มันเคร่ง โดยไม่รู้ตัว อยากจะเอาเร็วๆ อยากจะได้เร็วๆ อยากเกินไปมันก็ไปอยู่อนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน มันมีกรอบของมันอยู่ มันผิดแนวทางมันก็หลงไป มันตึง มันอยาก มันต้องการเร็วๆ มันก็ไปจากปัจจุบัน ไม่ดูปัจจุบัน ไปอยู่อนาคต ห่างจากเนื้อจากตัว ห่างจากคำว่า สัมปชัญญะ คือรู้ตัว ไปกินอารมณ์อื่น กินอารมณ์อะไรก็ไม่รู้ จิปาถะ หลายอย่าง นั่นคือมันจะทำให้เดือดร้อนได้ ยิ่งจะทำให้ไม่เห็น ยิ่งจะทำให้มืดมน อยากเข้าใจ ยิ่งไม่เข้าใจ
          จุดหลัก คือ ไม่ทิ้งกาย ไม่ทิ้งรูป ตัวนี้คือตัวเน้นหนัก ตั้งแต่เริ่มบวชมาก็ได้รับกรรมฐาน เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา อยู่ต่อมาก็ยังศึกษาเรื่องกายนี้อยู่ มันเป็นเรื่องเข้าทาง มันเป็นประตู ต้องเปิดที่นี่ ไม่ใช่จะเอาสบาย สบายนั่นมันเป็นทางของพวกฤๅษีนักบวชยุคก่อน เขาทำกันอยู่แล้ว จะเอาสงบ เอาสมาธิ มันก็ไปเลย เป็นยุคเก่า ยุคโบราณก่อนพระพุทธเจ้า ไปเน้นหนักสมาธิ พุทธประวัติอ่านดูส่วนมากก็มีแต่ในรูปแบบปัญญา พระพุทธองค์ไปเทศน์ที่ไหนก็มีแต่ไปบอกไปสอน สอนอะไร บอกอะไร สอนให้ไปนั่งสมาธิไหม สอนให้ไปนั่งหลับตาหรือเปล่า หรือไปบอกความจริงว่าคุณหลงผิดแล้วน่ะ ให้ลองวิเคราะห์ในจุดนี้ดู พระองค์ไปชวนคนทั้งหลายให้นั่งหลับตาหรือเปล่า กระแสชวนกันไปนั่งสมาธิหลับตานี่มันเป็นหลักใหญ่ใจความที่กระแสสังคมกำลังนิยมแห่ทำตามกันอยู่
          จะเห็นได้ชัดๆ ว่าพระพุทธองค์ท่านไปบอกความจริง ธรรมชาติ หน้าที่ จริง รู้แจ้งเห็นจริง นี่มันจะลงตัวกันไปหมดเลย ไม่ได้บอกให้ไปหาเอาความสุข มันสับสนกันไปหลายอย่าง คำศัพท์หลายคำที่พูดกันหรือระบุกันอยู่ในที่ต่างๆ ถ้าคิดไม่เป็น อ่านไม่เป็น มันสับสนไปหมดเลย จุดนี้ก็ว่าพ้นทุกข์ จุดนี้ก็ว่าออกจากทุกข์ อะไรกัน จุดนี้ว่าไม่มีอะไร มันเป็นอนัตตา ก็งงแล้ว สับสนไปหมด ไม่เข้าใจ มันต้องมีอะไรออกซิ จึงบอกว่าออกจากทุกข์ จุดนั้นก็บอกว่าอนัตตา ไม่มีอะไร มันว่างเปล่า เป็นเพียงความเกิด-ดับเท่านั้น ถ้าไม่เข้าใจ มันก็จะหมุนหัวให้บ้าตาย จะให้ยึดอันไหน ทิ้งอันไหน มันก็เป็นคำที่เขียนไว้ในพระไตรปิฎกทั้งนั้น ยึดจุดนั้น มันก็ขัดกับจุดนี้ โอ๊ย..วุ่นวายไปหมดเลย ถ้าไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจมันจะโปร่งเอง มันหมายความว่ายังไง จะเอายังไง ถ้ามันยังไม่เข้าใจ มันก็วุ่นเป็นธรรมดา สับสนเป็นธรรมดา มันเป็นนิวรณ์ เป็นวิจิกิจฉา มันยังเข้าทางไม่ได้ เข้าทางได้ก็คือละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
          สักกายทิฏฐิก็คือการรู้กาย วิจิกิจฉาก็คือสงสัยในคำสอนต่างๆ ในพระไตรปิฎก ถ้าเข้าใจมันก็จะไม่สงสัย ไม่ลังเล มันจะกระจ่างไปหมด สีลัพพตปรามาสก็คือลูบครำศีล ศีลมันก็มีหลายระดับ ศีลแบบชาวบ้านหรือแบบชาวพุทธ ศีลระดับโลกียะหรือโลกุตตระ ศีลแบบปุถุชนหรืออริยชน มันต้องแตกฉานรอบรู้ไปหมด จึงจะเข้าใจ จึงจะกระจ่างได้ ถ้าไม่เข้าใจมันก็ไปยึดติด ยึดติดก็เป็นสีพพตปรามาส ลูบครำข้อปฏิบัติ ลูบครำสิกขาบท ไม่แตกฉาน สับสนวุ่นวายไปหมด นี่คือเข้ากระแสไม่ได้ ก็ยังไม่โปร่ง ไม่กระจ่าง มันเป็นธรรมชาติของมัน เป็นหน้าที่ของมันเองที่จะเป็นอย่างนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น